Today Motorcycle
Motorcycle

Friday, July 23, 2010

"ซูซูกิ"สางปัญหาพื้นที่ขายทับซ้อน เปิดรับตัวแทนใหม่หลังเทกโอเวอร์"พรประภา"จบ

"ซูซูกิ" เตรียมเดินหน้าทำตลาดมอเตอร์ไซค์เต็มสูบ หลังจากซื้อหุ้นคืนจากเอส.พี.ซูซูกิ คาดลุยสะสางปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ส่วนดีลเลอร์ 200 แห่งยังไม่ชัดเจน เตรียมให้สมัครเข้าเป็นดีลเลอร์ใหม่ ขณะที่ "ฮอนด้า-ยามาฮ่า" ลั่น แม้บริษัทแม่เข้ามาทำตลาด เชื่อไม่กระเทือน คาดปีนี้ตลาดโตแตะระดับ 1.78 ล้านคัน

ผลพวงจากการที่กลุ่มพรประภาถอดใจเลิกขายมอเตอร์ไซค์ซูซูกิ ปล่อยให้ญี่ปุ่น เข้ามาลุยเมืองไทยเอง โดยแจ้งตลาด หลักทรัพย์ฯขอเพิกถอนหุ้น เอส.พี.ซูซูกิ เนื่องจากบริษัท ซูซูกิมอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ของญี่ปุ่น มีนโยบายจะทำธุรกิจจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ซูซูกิในประเทศไทยด้วยตัวเอง และได้ทำคำเสนอซื้อหุ้นบริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด ที่บริษัทถืออยู่ทั้งหมด พร้อมยกเลิกสัญญา Distributorship Agreement หรือการเป็นตัวแทนจำหน่ายทั้งหมด

นายเลิศศักดิ์ นววิมาน ผู้จัดการฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด บริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ซูซูกิในประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงกรณีการเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้นว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะส่งผลทำให้สัดส่วนการถือหุ้น โดยบริษัท บ้านซูซูกิ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ดูแลพื้นที่ภาคใต้ จะมีหุ้นอยู่ 5.56% เท่าเดิม ขณะที่หุ้นที่เหลือทั้งหมดก็จะถือโดยซูซูกิประเทศญี่ปุ่น

จากเดิม บริษัท เอส.พี.ซูซูกิ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ที่ 42.38% แต่หลังจากเอส.พี.ฯ ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดคืนกับบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น และขอยุติบทบาทการเป็นดิสทริบิวเตอร์ของซูซูกิลงตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ปัจจุบัน ซูซูกิมีโชว์รูม

ทั่วประเทศ 600 กว่าแห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นของบริษัท ไทยซูซูกิ จำกัด, บริษัท เอส.พี. ซูซูกิ จำกัด และบริษัท บ้านซูซูกิ จำกัด

โดยก่อนหน้านี้ บริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด ได้มีการประกาศแต่งตั้งดีลเลอร์ไปแล้ว 53 แห่ง และล่าสุด จะมีการพิจารณารับเพิ่มเป็น 60 แห่งทั่วประเทศ ยกเว้นเพียงแต่ในเขตพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งดูแลโดยบริษัท บ้านซูซูกิ จำกัด เท่านั้น ขณะที่เป้าหมายการดำเนินธุรกิจของซูซูกิ ในปีนี้บริษัทยังคงยืนยันเป้าหมายเดิมที่ 1 แสนคัน ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อยอดขายบ้าง แต่เป็นไปได้ทั้งเชิงบวกและลบ ดังนั้น บริษัทจึงขอยืนยันเป้าหมายเดิมก่อน

แหล่งข่าวจากบริษัท เอส.พี.ซูซูกิ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการตัดสินใจครั้งนี้ว่า บริษัทได้ตัดสินใจแจ้งบริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ฯไปแล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ หลังจากที่บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายมายาวนานกว่า 40 ปี โดยนอกจากการยกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว ยังจะมีการขายหุ้น 42.38% คืนให้กับบริษัท ซูซูกิมอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และบริษัทจะไม่มีความเกี่ยวข้องต่อกับธุรกิจดังกล่าวทั้งหมด

ส่วนดีลเลอร์ที่บริษัทมีอยู่ประมาณ 200 แห่งทั่วประเทศนั้น คาดว่าบริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด จะเปิดโอกาสให้สมัครเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ซูซูกิใหม่ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของ ดีลเลอร์

"การตัดสินใจยุติบทบาทของเราครั้งนี้ ถือเป็นการจากลากันด้วยดี เพราะที่ผ่านมา ไทยซูซูกิก็มีการตั้งตัวแทนจำหน่ายของตัวเองในพื้นที่ 62 จังหวัดที่เราดูแลอยู่ตั้งแต่เมื่อปี 2550 แล้ว เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของซูซูกิต่อจากนี้ ส่วนการบริหารจัดการรถจักรยานยนต์ในสต๊อกของเรานั้น เท่าที่ได้มีการ หารือกับทางไทยซูซูกิฯ คาดว่าทางซูซูกิจะเป็นผู้รับผิดชอบและซื้อคืนทั้งหมด" แหล่งข่าวกล่าว

นายธีระพัฒน์ จิวะพงศ์ กรรมการบริหารฝ่ายขาย บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า โดยรวมของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ น่าจะช่วยให้ซูซูกิมีการพัฒนาระบบเครือข่ายการจำหน่ายได้ดีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา อาจจะมีบางช่องทาง และบางพื้นที่มีความซ้ำซ้อน ซึ่งหากบริษัทแม่เข้ามาดูแล และควบคุมอย่างเต็มที่ ก็น่าจะทำให้ตรงนี้ดีขึ้น ส่วนจะทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์มีสภาพการแข่งขันที่รุนแรงหรือไม่นั้น ถือว่าปัจจุบันตลาดมีการแข่งขันที่รุนแรงมาโดยตลอด และสินค้า รวมทั้งพื้นที่การจำหน่ายของซูซูกิก็ไม่ได้ด้อยกว่ายี่ห้ออื่น ๆ

"ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตา เพราะจุดประสงค์ใหญ่ของการเข้ามาของซูซูกิครั้งนี้ น่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาเครือข่ายให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นแล้ว บริษัทแม่คงไม่ทุ่มเงินลงทุนขนาดนี้ ส่วนเรื่องสินค้า และพื้นที่การขาย ถ้ามีการพัฒนาให้เหมือนคู่แข่ง ก็เชื่อว่าน่าจับตาทีเดียว" นายธีระพัฒน์กล่าว

สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ในช่วงครึ่งปีแรก มีอัตราการเติบโตสูงถึง 25% และเอ.พี.ฮอนด้ามีอัตราการเติบโตที่ 30% ซึ่งถือเป็นยอดที่น่าพอใจ ส่วนครึ่งปีหลัง หากสถานการณ์ยังคงดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตร คาดว่าตลาดโดยรวมน่าจะอยู่ในระดับ 1.78 ล้านคัน สูงขึ้นจากเป้าเดิมที่ 1.7 ล้านคัน และฮอนด้าจะมียอดขายเพิ่มเป็น 1.14 ล้านคันอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับนายประพันธ์ พลธนะวสิทธิ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับซูซูกิ ในเชิงตลาดรวม คงไม่ แตกต่างกันมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมา ซูซูกิก็ได้มีความพยายามทำตลาดอย่างเต็มที่ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะได้เห็นครั้งนี้ คือโครงสร้างการบริหารมากกว่า ซึ่งน่าจะส่งผลดีกับซูซูกิ เพราะหากเทียบกับค่ายรถจักรยานยนต์อื่น ๆ ที่บริษัทแม่เข้ามาดูแล 100%

เพราะเดิม การบริหารจัดการของ "ซูซูกิ" นั้นมีความหลากหลาย อาจจะส่งผลทำให้การบริหารจัดการไม่ชัดเจน แต่จากการตัดสินใจของบริษัทแม่เข้ามาทำตลาดนั้น เชื่อว่าจะส่งผลดี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับไทยซูซูกิ ว่าจะทำทุกอย่างได้มีมากน้อยเพียงใดด้วย

สำหรับยามาฮ่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการทำตลาดมากนัก เพราะลำพังเพียงแค่ฮอนด้าและยามาฮ่า ก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 95% แล้ว ดังนั้น การปรับเปลี่ยนของซูซูกิครั้งนี้ น่าจะทำให้ตลาดมีความคึกคักมากขึ้น ในแง่ของเป้าหมายการจำหน่ายของปีนี้ เดิมยามาฮ่าตั้งเป้ามียอดขายที่ 4.8 แสนคัน แต่ขณะนี้ได้ปรับเพิ่มเป้าเป็น 5.2 แสนคันขึ้นไปแล้ว เนื่องจากตลาดโดยรวมมีอัตราการเติบโตค่อนข้างมาก

สำหรับบริษัท เอส.พี.อินเตอร์แนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท เอส.พี. ซูซูกิ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เสนอซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุน ในราคาเสนอซื้อหุ้นสามัญ 16.20 บาทต่อหุ้น และมีบริษัท เคพีเอ็มจี ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของผู้เสนอซื้อ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ

เพิ่มเติม http://www.prachachat.net/